นับตั้งแต่หลวงพ่อเปิ่น หรือพระอุดมประชานารถได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ.2518 ท่านก็ได้ทะนุบำรุงและพัฒนา วัดบางพระขึ้นจากเดิมเป็นอันมาก มีการสร้างเขื่อนหน้าวัด สร้างกุฏิหลายหลังให้มีจำนวนเพียงพอ มีการบูรณะพระอุโบสถเดิม และสร้างกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถสร้างหอระฆัง ศาลามหรสพ ศาลาจัตุรมุขริมน้ำ ศาลาประชาคม และศาลาอเนกประสงค์ จนทำให้วัดบางพระเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนในละแวกนี้ไปโดยปริยาย และนอกเหนือจากการศาสนาแล้ว ท่าน ยัง บริจาคเงินช่วยเหลือกิจกรรมทางด้านการศึกษาแก่โรงเรียนในชนบทอีกหลายแห่ง ตลอดจนบริจาคเงินช่วยเหลือกิจกรรมทางด้านสาธารณสุขอยู่เนืองๆ นับได้ว่าท่าน เป็นพระนักพัฒนา รูปหนึ่ง ที่ได้มาพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญรุ่งเรืองจากเดิมเป็นอันมาก
แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของหลวงพ่อ นั่นคือ การสร้างโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนในตำบลบางแก้วฟ้า และบริเวณใกล้เคียง สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว โดยที่โรงพยาบาลเป็นสถานที่ให้การบำบัดรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเป็นการบำบัดทุกข์โดยตรงต่อประชาชนที่เป็นรูปธรรมที่ดีที่สุดในปี พ.ศ. 2530 ท่านจึงดำริ ที่จะสร้างโรงพยาบาลขึ้นในตำบลบางแก้วฟ้า โดยจะมอบให้แก่ทางราชการในขั้นแรกได้มีการติดต่อประสานงานกับทางกระทรวงมหาดไทย โดยจะสร้างโรงพยาบาลมอบให้กระทรวงมหาดไทย แต่ติดขัดด้วยปัญหาบางประการจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ทางคณะกรรมการวัดจึงได้เปลี่ยนเป้าหมาย เป็นการสร้างโรงพยาบาลมอบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขแทน แต่โดยที่ตาม ระเบียบของการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีระยะห่างจากโรงพยาบาลเดิมของกระทรวงสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร ทางคณะกรรมการเล็ง เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างโรงพยาบาลมอบแก่กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากตำบลที่ใกล้เคียงคือ ตำบลห้วยพลู ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบางพระราว 6 กิโลเมตร ก็มีโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ 1 แห่งอยู่แล้ว แต่ทางกรรมการวัดก็มิกล้าที่จะเรียนให้หลวงพ่อทราบโดยตรง เกรงว่าท่านจะเสียใจ จึงได้เบนความสนใจให้ท่านหันไปสร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน(แม่น้ำนครชัยศรี) บริเวณหน้าวัดบางพระแทนในปีนั้น โดยเสนอหลวงพ่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสัญจรไปมาของชาวบ้านที่อยู่สองฝั่งคลองเป็นอย่างยิ่ง แต่พอสร้างสะพานแล้วเสร็จในปีถัดไป ท่านก็ หันมา ปรึกษากับกรรมการวัดเรื่องการสร้างโรงพยาบาลอีกทาง กรรมการวัดต้องเบนความสนใจของท่านให้ไปสร้างสาธารณประโยชน์อย่างอื่นต่อไป แทนการสร้าง โรงพยาบาลอีกถึง สองครั้ง สองคราวด้วยกัน ได้แก่การสร้างถนนลาดยางจากแยกวัดละมุดมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำหน้าวัด ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ในครั้งแรกการก่อสร้างอาคารเรียนคอนกรีตเสริมเหล็กสามชั้น จำนวน 2 หลัง ให้แก่โรงเรียนวัดบางพระอีกเป้นครั้งที่สองในปี พ.ศ.2533
ต่อเมื่อการก่อสร้างต่างๆแล้วเสร็จ ท่านก็มาหารือเรื่องการก่อสร้างโรงพยาบาลอีก จนทางคระกรรมการตระหนักว่าเป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของท่านจริงๆ ซึ่งมิอาจจะเลี่ยงเป็น อย่างอื่น ได้อีกแล้ว จึงได้คิดติดต่อประสานงานกับทางกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่ง แต่ด้วยปัญหาทางด้านการดำเนินการ จึงได้หาทางออกด้วยการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลห้วยพลูเสนอโครงการ ให้เป็นโครงการเพิ่มพูนประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาลห้วยพลู โดยการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้เป็นสาขาของโรงพยาบาลห้วยพลูขึ้นที่ตำบลบางแก้วฟ้านี้ และ จะขยาย ให้มีการ บริการทางด้านกายภาพบำบัด ซึ่งจะทำให้การให้บริการของโรงพยาบาลห้วยพลูครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟู สมรรถภาพ ตลอดจนจัดให้มีศูนย์ฝึกอบรมทางด้านวิชาการสาธารณสุขด้วย โรงพยาบาลห้วยพลูได้เสนอโครงการแก่ทางกระทรวงสาธารณสุขและทางกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความเห็นชอบและมีหนังสือที่ สธ 0216/41/8154 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 อนุมัติให้สร้างโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นขึ้นเป็นสาขาของโรงพยาบาลห้วยพลูและศูนย์ฝึกอบรมของวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข ขึ้นที่ ตำบลบางแก้วฟ้า โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1.กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้กำหนดผังหลักของโรงพยาบาล และการขยายตัวของโรงพยาบาลในอนาคตเอง
2.ให้ผู้บริจาคก่อสร้างโรงพยาบาล ตามแบบมาตรฐานของโรงพยาบาลชุมชน ของกองแผน กระทรวงสาธารณสุข
3.ให้ผู้บริจาคจัดหาครุภัณฑ์ครบชุด ตามรายการครุภัณฑ์มาตรฐานของโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง ของกระทรวงสาธารณสุข
4.ให้ผู้บริจาคก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อให้การสนับสนุนโรงพยาบาลแห่งนี้
5.ผู้บริจาคยินยอมที่จะมอบที่ดิน สิ่งก่อสร้าง รวมถึงวัสดุครุภัณฑ์ให้เป็นสมบัติของทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
6.เมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ และกระทรวงสาธารณสุขรับมอบเรียบร้อยแล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าดำเนินกรบริหารจัดการสถานบริการแห่งนี้ทันที
7.ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการติดตามและประเมินผลโครงการนี้ โดยผู้แทนของกองสาธารณสุขภูมิภาค กองแบบแผนและกองช่างบำรุงร่วมเป็นกรรมการด้วย
หลวงพ่อได้รับทราบและยินดีปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกประการและได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมเป็นประธานเพื่อติดตามการดำเนินงานตามโครงการนี้ โดยมีการกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มาเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2536 และการก่อสร้างก็สามารถดำเนินการไปอย่างรวดเร็วแล้วเสร็จสมบูรณ์ ภายในหนึ่งปีถัดไป ใช้เงินไปทั้งสิ้น 145 ล้านบาท ในส่วนของโรงพยาบาล
ทางจังหวัดนครปฐมได้ทำหนังสือจังหวัดนครปฐม ที่ นฐ 0028/4688 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 เรื่อง ขออนุมัติแยกโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง โดยไม่ต้องเป็น สาขาของโรงพยาบาลห้วยพลู และได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข ตามหนังสือที่ สธ 0212/41/2688 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2537 โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น จึงถือกำเนิด มาเป็น โรงพยาบาลชุมชนแห่งใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขโดยเต็มตัวมาตั้งแต่ยังไม่เปิดดำเนินการ และเริ่มเปิดดำเนินการให้บริการประชาชนก่อนครั้งแรก เมื่อวันที่4 กรกฏาคม 2537 โดยมี นายแพทย์สุนทร เสรีเชษฐพงศ์ นายแพทย์ระดับ 8 เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นเป็นคนแรก และเป็นแพทย์เพียงคนเดียวของโรงพยาบาลในเวลานั้น พร้อมกับพยาบาล และลูก จ้างชั่วคราวอีกอย่างละ 14 คน รวม 29 คน และโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นได้ประกอบพิธีเป็นทางการ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2537 โดยมีการกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธี ในวันพิธีเปิดโรงพยาบาล มีประชาชนมาเฝ้ารอรับเสด็จฯ เป็นจำนวนมาก และมีการบริจาคทรัพย์คนละเล็กละน้อย เพื่อถวายเป็น พระราช กุศลตามพระราชอัธยาศัย และเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินกลับ ก็ได้ส่งเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชนกลับ คืนให้แก่ โรงพยาบาล หลวงพ่อ เปิ่นเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนพระราชทานเพื่อสังคมสงเคราะห์คนไข้ยากจนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประจำโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เป็นจำนวนเงิน 20,170 บาท และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนดังกล่าว เพื่อบริหารเงินกองทุนและจัดทำรายการ รายรับ- รายจ่าย เสนอต่อสำนักเลขาธิการเป็นประจำทุกปี
การดำเนินงานของโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่นในปีแรกๆ ค่อนข้างจะขลุกขลักพอสมควร เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเปิดใหม่ และกระทรวงสาธารณสุขตั้งงบประมาณไว้ให้ไม่ทันบุคลากรก็มีน้อย เนื่อง จากเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นในช่วงที่อัตรากำลังคนภาครัฐถูกจำกัดอย่างรุนแรง แต่ด้วยแรงสนับสนุนจากหลวงพ่อเปิ่นเป็นไปอย่างราบรื่น มีผู้มาใช้บริการมากขึ้นเป็นลำดับ จนได้รับการยกย่อง ฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2538 และโรงพยาบาลมีแผนที่จะขยายจำนวนเตียงให้มากขึ้นตามลำดับในโอกาสต่อไป